Monday, November 25, 2013

เรื่องไม่ง่ายของการบริจาค

เพิ่งเขียนถึงเรื่อง Climate Change ไปเมื่อไม่นานมานี้ (http://cchaiyoot.blogspot.com/2013/10/climate-change.html) คราวนี้ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ก็ได้มาเยือนประเทศฟิลิปปินส์ไปเมื่อไม่นานมานี้

ภัยพิบัติที่ตามมา นับได้ว่าเป็นเคราะห์กรรมอีกครั้งหนึ่งของประชากรโลก เพราะไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนนับได้ว่าทำลายสถิติในด้านความรุนแรงของพายุทุกลูกที่เคยเกิดขึ้นในโลก

เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มูน ได้กล่าวว่า ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนนับได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย ถึงปัญหา Climate Change ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ระดับความรุนแรงที่เกิดนั้นนับได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตามสถิติที่สหประชาชาติได้รวบรวมไว้ ไต้ฝุ่นนี้ได้ส่งผลกระทบกับประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้มียอดผู้ตาย 4,460 คน และมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 2.5 ล้านคนเลยทีเดียว

ภาพแม่ที่พาลูกหนีไต้ฝุ่น จาก http://darkroom.baltimoresun.com/2013/11/philippines-bracing-for-enormous-typhoon-haiyan/#1

ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดสึนามิในภาคใต้ของไทย เมื่อปี 2547 ซึ่งความช่วยเหลือต่างก็หลั่งไหลกันอย่างท่วมท้น เงินบริจาคที่ได้นับได้หลายพันล้านบาท แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า เงินบริจาคด้วยความปราถนาดีทั้งหลายเหล่านั้น ไปถึงมือผู้ที่เดือดร้อนได้สักกี่เปอร์เซ็นต์



บริษัทและองค์กรต่างๆ มักจะถือเอาว่า การบริจาคคือ CSR ขององค์กร เนื่องจากง่ายและสะดวก เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ก็มักจะถือเอาจำนวนเงินบริจาคเป็นเครื่องวัดความรุนแรงของปัญหา ที่สำคัญคือเมื่อบริจาคแล้ว ได้ถ่ายรูปออกสื่อแล้ว ก็เป็นอันจบกัน ไม่ต้องไปนั่งคิดให้ปวดหัว หรือไม่ต้องไปกะเกณฑ์คนมาแสดงพลังอะไรต่างๆ มากมาย

ที่กล่าวข้างต้น ไม่ได้หมายความว่า การบริจาค เป็นเรื่องไม่ดี การบริจาคยังคงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับสังคมในทุกๆ ระดับ และถ้ายังทำได้ไม่ดี จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ แต่การบริจาคอย่างมักง่ายของบุคคลหรือองค์กรหลายแห่ง ก็มักทำให้การบริจาคในยุคโลกาภิวัตน์นี้กลายเป็นเรื่องของการใช้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันไป

หลายองค์กรก็ตีกลับไปอย่างสุดโต่ง เช่น การระบุว่าการบริจาคนั้นไม่ใช่ CSR ซึ่งเป็นการตีคลุมมากเกินเหตุไปสักหน่อย แท้จริงแล้วการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลหรือองค์กรนั้น มีวิธีการมากมายหลายอย่าง และที่สำคัญก็คือ ไม่มีบุคคลภายนอกคนไหนที่จะสามารถไประบุได้ว่า องค์กรไหนควรจะทำอะไร

ตามมาตรฐาน ISO 26000 นั้นได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า องค์กรแต่ละแห่งต้องมีการสำรวจปัญหาและปัจจัยต่างๆ ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะกำหนดเรื่องสำคัญด้าน CSR ขององค์กร แต่ที่สำคัญคือการที่จะดำเนินงาน CSR ของตนเองได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีความโปร่งใส คือต้องมีเรื่องของ CG กำกับดูแลอยู่ด้วย

ความจริงเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างเช่น ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน หรือ สึนามิ สิ่งแรกที่องค์กรทั้งหลายจะทำคือการให้เงินบริจาคไปก่อน ซึ่งเป็นการบรรเทาเบื้องต้น เพราะเงินบริจาคในลักษณะนี้ ที่เราเรียกว่า Front Loading คือเป็นเงินที่ให้ไปก่อนโดยยังไม่รู้ว่า จะเอาเงินไปใช้ทำอะไร แต่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาที่ฉุกเฉินต่างๆ เพราะถึงแม้จะให้เงินไปมากในตอนต้นนี้ เงินดังกล่าวก็ยังไม่มีวิธีการที่จะไปถึงมือผู้ได้รับความเดือดร้อน

การบริจาค หรือความช่วยเหลืออื่นใด จะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจในปัญหาเสียก่อน ประเทศไทยเองก็ผ่านประสบการณ์เรื่องนี้มาไม่น้อย อย่างเช่นตอนที่เกิด สึนามินั้น สิ่งที่ทำร้ายชาวบ้านทั้งหลาย นอกเหนือจากภัยธรรมชาติแล้ว ก็คือของบริจาคที่ใช้งานไม่ได้ทั้งหลาย

สำหรับองค์กรที่เป็นผู้บริจาคทั้งหลาย จึงควรมีแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อที่จะทำให้การบริจาคของทุกท่าน เกิดผลเป็น CSR ที่ดีสำหรับองค์กรของท่าน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นไว้ดังนี้

ขั้นตอนแรก คือการวางแผนในเรื่องเงินบริจาค กล่าวคือวงเงินที่จะบริจาคนั้นควรแบ่งเป็นสองกองคือ กองแรกคือเงินที่จะต้องถึงมือผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) โดยตรง ส่วนกองที่สองคือเงินที่เป็นค่าใช้จ่าย (Operating Cost) ที่จะทำให้เงินกองแรกของท่านไปถึงมือผู้รับประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์

หลายท่านอาจจะคิดว่าในเมื่อ ท่านตั้งใจที่จะให้เงินบริจาคแล้ว ทำไมจึงต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก นั่นเป็นเพราะว่าท่านยังไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น ท่านอยากจะบริจาคเงินสักหนึ่งล้านให้กับผู้ประสบภัยใต้ฝุ่นไห่เยี่ยนโดยตรง แต่การจะไปถึงตัวผู้ประสบภัยนั้น ท่านอาจจะต้องใช้เครื่องบินทหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นอาจจะมากกว่าเงินบริจาคของท่านเสียอีก

การที่องค์กรจะประกาศเรื่อง CSR ของการบริจาคนั้น ควรจะประกาศที่เงินก้อนแรกเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้นมีวิธีการจัดการที่หลากหลาย ที่สำคัญนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวควรจะถือเป็นค่าใช้จ่ายภายใน เนื่องจากองค์กรทุกแห่งต่างมีความไม่มีประสิทธิภาพแฝงตัวอยู่ไม่มากก็น้อย ด้งนั้นถ้านำเอาความไม่มีประสิทธิภาพนี้มาใช้ ก็จะสามารถหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ไม่ยากนัก

ขั้นตอนที่สอง คือการหา Partner ที่เหมาะสมในการที่จะช่วยให้เงินบริจาคของท่านสัมฤทธิ์ประโยชน์ ในปัญหาหลายๆ อย่างนั้นองค์กรของท่านไม่มีความชำนาญที่จำเป็น ตัวอย่างของภัยพิบัติจะเห็นได้ชัดว่า ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ การคมนาคมสัญจรมักจะเกิดความเสียหาย การจะเข้าถึงพื้นที่ให้ได้นั้น ต้องอาศัยยานพาหนะพิเศษ ซึ่งมักจะมีก็แต่กองทัพ หรือหน่วยงานกู้ภัยเฉพาะเท่านั้น ถึงจะมียานพาหนะเหล่านี้ หรือในการบริจาคให้กับผู้ยากไร้ก็ตาม การที่จะบริจาคให้ตรงกับตัวผู้ยากไร้ตัวจริง หรือให้ของที่ตรงกับความต้องการได้ นับได้ว่าจะต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางกันเลยทีเดียว

ดังนั้น Partner ดังกล่าวจึงเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้องค์กรของท่านบรรลุเป้าหมายทาง CSR ได้ นอกจากนี้ Partner ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย (Operating Expense) ของท่านได้อีกมาก ทำให้เงินบริจาคของท่านมีประสิทธิภาพสูงขั้น

ขั้นตอนสุดท้าย เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งคือการทำ Engagement ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความแล้วว่า การบริจาคที่ไม่ดีคือการที่ให้เงินไปอย่างง่ายๆ แล้วไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกันอีกเลย การทำเช่นนั้นจะทำให้เจตนารมย์ที่ดี ที่เป็นคุณต่างๆ หายไป และอาจจะส่งผลลบทางภาพพจน์อีกต่างหาก ดังนั้นการบริจาค ที่จะให้ได้ CSR ที่ดีนั้น จะต้องรวมการทำ Engagement ไว้อยู่ในโปรแกรมด้วย ซึ่งกลุ่มคนที่สำคัญที่ควรจะต้อง Engage ด้วยก็คือ พนักงานในองค์กร หรือที่สำคัญ ถ้าทำได้ก็คือ ลูกค้า

พนักงานในองค์กร ก็คือตัวองค์กรนั่นเอง การบริจาคที่ขาดการเข้าร่วมของพนักงาน ก็คือการขาด "หัวใจ" ในการทำ CSR ซึ่งในส่วนนี้องค์กรจะต้องทุ่มเท Operating Cost ของตัวเองออกมา เช่นการอนุญาติให้พนักงานใช้เวลางานที่เหมาะสมมาเข้าร่วมกิจกรรม การกำหนดนโยบายให้พนักงานผลัดเปลี่ยนกันเสนอแนวคิดในการทำ CSR การให้ความรู้แก่พนักงานในเรื่อง CSR ที่ถูกต้อง ฯลฯ

ส่วนลูกค้าคือตัวการที่สำคัญคนหนึ่ง โดยปกติองค์กรมักมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว เช่นห้างสรรพสินค้า ก็จะพยายาม ลด แลก แจก แถม เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น การให้ลูกค้ามาเข้าร่วมในกิจกรรม CSR ของบริษัท จะเสริมสร้างภาพในใจของลูกค้าที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการบริจาค หาใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ความหมายเพียงแต่จ่ายเงินออกไปเท่านั้น ในเชิง CSR การบริจาคที่ดี ก็สามารถส่งผลสะท้อนเชิงบวกให้กับองค์กรได้อย่างหลากหลาย และท่ามกลายภัยพิบัติที่โหมกระหน่ำกันอยู่ทุกวันนี้ CSR ก็นับเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญ ที่จะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนอยู่ได้

CChaiyoot
25 พฤศจิกายน 2556

No comments:

Post a Comment