Tuesday, October 1, 2013

Climate Change, พายุหวู่ติ๊บ และการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย

(เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2556)

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ประเทศไทยกำลังตื่นตระหนกกับข่าวพายุไต้ฝุ่น "หวู่ติ๊บ" ที่กำลังเข้าสู่่ประเทศจีน และพัดเลยเข้าสู่ประเทศไทย

ภาพจาก www.paipibat.com
















เหตุที่ต้องตื่นตระหนก เพราะขนาด "หวู่ติ็บ" ยังมาไม่ถึง ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่มหกรรมหวิดน้ำกันอย่างกว้างขวาง มากกว่า 17 จังหวัด ในขณะนี้

ภาพหลอนจากมหาอุทกภัยปี 2554 ดูเหมือนจะเป็นการฉายหนังซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงโหมโรง (Overture) กันพอดี โดยยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร



แผนป้องกันภัยพิบัติของประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนว่า "เอาอยู่" มาตั้งแต่ปี 2554 ก็ยังไม่เห็นผลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แผนระดับรัฐ (Water Management) ซึ่งใช้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้าน และเตรียมจะใช้เงินอีก 3.5 แสนล้าน และยังทะเลาะกันอยู่ หรือจะเป็นแผนภาคเอกชน (Business Continuity Plan) โรงงานของภาคเอกชนหลายแห่ง ได้ลงทุนสร้างเขื่อนความสูงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป รอบโรงงานแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าถ้าน้ำท่วมขึ้นมาจริงๆ  ตัวเองจะเดินเครื่องโรงงานได้อย่างไร หรือจะเป็นแผนระดับชาวบ้าน (Incident-Response) ซึ่งก็คือแผนกู้ภัย แผนกู้ชีพ ก็คงต้องรอให้ท่วมถึงคอก่อนจึงจะรู้ได้ว่า จะทำได้ดีกว่าปี 2554 สักแค่ไหน

จากที่สอบถามพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งหลาย ต่างก็เตรียมแผนรองรับความเสี่ยง (Risk Management) กันไว้อยู่แล้ว โดยการย้ายฐาน (ถ้าทำได้) หรือลดกำลังการผลิต ดังนั้นในปีนี้ถึงแม้น้ำอาจจะไม่ได้มากเท่ากับ ปี 2554 แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจคงมีตามมาไม่น้อยหน้ากัน ซึ่งน่าจะเห็นผลได้ใน ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ปัญหาของแผนการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ คือการมุ่งจะใช้ทรัพยากรในการสร้างเครื่องป้องกัน (Instrument) แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจาก ไม่สามารถจะไปควบคุมเหตุปัจจัยได้ (Cause) เนื่องจากน้ำที่มามากอันเป็นปัญหามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ดังนั้น การสร้างเขื่อนกักน้ำหรือคูคลองต่างๆ จะทำได้แต่เพียงย้ายทางเดินของน้ำเท่านั้นเอง กล่าวคือไม่ให้น้ำท่วมในที่ของฉัน แต่ท่วมในที่คนอื่นได้

การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงต้องมองในเชิงพัฒนา เพราะไม่มีมาตรการใดที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เราไม่สามารถโยนปัญหาในใครคนใดคนหนึ่ง แล้วหวังว่าเราจะไม่ต้องเจอปัญหานั้นอีก เพราะไม่มีใครที่จะแก้ไขปัญหา Climate Change ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนอีกสักกีรุ่นในอนาคตก็ตาม ดังนั้นการแก้ไข บรรเทา และปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการมองภาพรวมให้เด่นชัด และต้องมุ่งเน้นในการเอาผลกระทบทางสังคม (Social Impact) เป็นที่ตั้ง

ประเทศไทยยังขาดผู้ที่มองปัญหาในภาพรวม และสร้างความมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการเข้าร่วมเขตเศรษฐกิจอาเชี่ยนในอีก 2 ปีข้างหน้า

จากปัญหาความแปรปรวนของภูมิอากาศ หรือที่ประชาคมโลกเรียกรวมกันในภาพใหญ่ว่า Climate Change นั้นมีที่มาและพัฒนาการมาแล้วสักระยะหนึ่งและยังคงขยายตัวและแปรเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วอายุคน อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันโลกเราเพิ่งจะเข้าสู่ระยะเริ่มต้นของปัญหา Climate Change เท่านั้น

ระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 กันยายน ที่ผ่านมานี้เอง มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญเกิดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม
ประเทศสวีเดน การประชุมนี้มีชื่อเรียกว่า IPCC WGI AR5 (Intergovernmental Panel on Climate Change, Work Group I, Fifth Assessment Report) โดยมีชื่อสำรองว่า Climate Change 2013: The Physical Science Basis เป็นการประชุมโดยบรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกียวกับสถานการณ์ Climate Change ของโลก โดยไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และการประเมินครั้งนี้นับได้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว

ข้อสรุปเบี้องต้นจากการประชุม ระบุว่า จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ขณะนี้สามารถระบุได้โดยไร้ข้อโต้แย้ง ความร้อนที่มากขึ้นของบรรยากาศโลกเกิดขึ้นจริง และได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปีทศวรรษ 1950s โดยมีผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้น 4 ลักษณะ คือ 1) อุณหภูมิของบรรยากาศและท้องทะเลสูงขึ้น 2) หิมะและน้ำแข็งลดลง 3) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และ 4) การรวมตัวของมวลก๊าซเรือนกระจกที่มีมากขึ้น

ผลกระทบที่สำคัญคือ อุณหภูมิของบรรยากาศและท้องทะเลสูงขึ้น จากรายงานได้มีการสรุปข้อเท็จจริงว่า ถ้าวัดอุณหภูมิที่พื้นผิวโลกทั้งในมหาสมุทรและพื้นแผ่นดิน โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 0.83 องศาเซลเซียส [0.65 - 1.06] ในช่วงระหว่างปี 1880-2012 หลายท่านเห็นตัวเลขแล้ว อาจจะคิดว่าไม่เห็นเป็นปัญหาเลย อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว แต่หลายท่านที่ยังจำได้ถึงเรื่อง 6 องศาเซลเซียส ที่มีผู้ระบุว่า มนุษย์เราจะไม่สามารถอาศัยอยู่บนผิวโลกได้เลยถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 6 องศา ถ้าเราจะมาคิดกันเล่นๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.83 องศา เท่ากับเราได้เดินทางมาแล้ว 14% ของปัญหาโลกร้อน

ที่สำคัญคือแนวโน้มของปัญหาที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าว่ากันในเชิงตัวเลขหลายท่านก็ยังอาจจะไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่ผลลัพธ์ที่ทุกท่านประสบอยู่ คือความแปรปรวนของสภาพอากาศ อันเนื่องจากอุณหภูมิของบรรยากาศและมหาสมุทรที่สูงขึ้น ดังนั้นพายุที่รุนแรงขึ้น และเพิ่มความถึ่มากขึ้น เป็นผลโดยตรงจากอุณหภูมิผิวโลกที่ร้อนขึ้น พายุหวูติ๊บที่ประเทศไทยกำลังตื่นเต้นอยู่ขณะนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพการณ์ดังกล่าว และไม่ได้มีเพียงนี้เท่านั้น เมื่อปีที่แล้วได้เกิด Super Storm ขึ้นที่นิวยอร์ก ที่ดึงน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นหลายสิบเมตร มีผลทำให้น้ำเข้าไปท่วมในรถไฟใต้ดินได้

ถ้าจะอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การที่โลกร้อนขึ้น ทำให้มวลความร้อนที่สะสมในมหาสมุทรมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ พลังงานสะสมในสภาพบรรยากาศโลกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งพลังงานสะสมในมหาสมุทรนั้นเป็นส่วนสำคัญมากกว่า 90% ของพลังงานสะสมในบรรยากาศ ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า พายุที่เกิดขึ้นในระยะหลังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มดังกล่าวยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ที่กล่าวมาเป็นของสังเกตุทางวิทยาศาสตร์ แต่ประเด็นสำคัญของ Climate Change อยู่ที่ว่าโลกเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะปัญหาโลกร้อนนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์นี่เอง เวทีการแก้ไขปัญหา Climate Change ที่เคยจัดกันมา ก็มีการเมืองและการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ทำให้ขาดความร่วมมือในระดับโลกอย่างแท้จริง มีการสำรวจถึงความคิดเห็นของบรรดานักวิทยาศาสตร์ ซึ่งกว่า 97% เชื่อว่าปัญหาโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์นี่เอง ขณะเดียวกันได้มีการสำรวจลักษณะเดียวกันกับประชาชนในอเมริกา พบว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นเหมือนกับบรรดานักวิทยาศาสตร์เพียง 41% และเมื่อสำรวจแบบเดียวกันในอังกฤษ พบว่าประชาชนทั่วเชื่อถือเรื่องปัญหาโลกร้อน เพียง 43% เท่านั้น ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าการแก้ไขปัญหา Climate Change ที่ยังไม่เกิดผลอย่างจริงจังเป็นเพราะ คนโดยทั่วไปยังไม่เห็นถึงผลกระทบทางสังคม (Social Impact) อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วไปอาจจะมีความเชื่ออยู่ว่า ปัญหาโลกร้อนนั้นมีอยู่จริง แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญคือ คนทั่วไปขาดความเข้าใจถึงผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ของปัญหาโลกร้อน ในทางวิทยาศาสตร์ อาจจะกล่าวได้ว่า ปัญหาโลกร้อนจะส่งผลกระทบ ดังนี้ 1) ความแปรปรวนของสภาพภูมิที่รุนแรงมากขึ้น 2) ปัญหาของความเสื่อมโทรมด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio Diversity) 3) ปัญหาของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และ 4) ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของสัตว์พันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่ทุกคนมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะยังคงไม่แน่ใจกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอยู่ดี โดยมักจะมองไปว่า "ผลสุดท้ายคงไม่เกิดอะไรที่รุนแรงกระมัง"

ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องของ Social Impact จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่สามารถทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงปัญหาได้ ขบวนการแก้ไขปัญหาก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีพลัง

ผู้เขียนจึงอยากที่จะเสนอ กรอบของการแก้ไขปัญหานี้ ซี่งใช้ได้ในระดับองค์กร หรือระดับประเทศก็ตาม และเป็นการแก้ไขในรูปแบบของธรรมาภิบาล คือ เป็นเรื่องด้าน CG+CSR ซึ่งเรียกว่าเป็นแผนในการแก้ไขปัญหา Climate Change และแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1) แก้ไข หรือที่เรียกว่า Incident-Response 2) บรรเทา หรือที่เรียกว่า Continuity Plan และ 3) ปรับตัว หรือที่เรียกว่า Risk Mitigation

แผนแก้ไข (Incident-Response) เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับเหตุหรือภัยพิบัติซึ่งสืบเนื่องจาก Climate Change ยกตัวอย่างของประเทศไทย คือ มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขเยียวยา การแก้ไขเยียวยาก็จะต้องดูที่ Social Impact เป็นหลัก คือจะต้องแก้ไขเยียวยาในสิ่งที่เป็น Social Impact ที่แท้จริง เช่น ปัญหาภัยอันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาความไม่สามารถในการดำรงชีพและทำกิน ปัญหาการพลัดหลงจากครอบครัว ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ องค์กรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เกิดความมั่นใจได้ว่า องค์กรจะสามารถรองรับปัญหาเหล่านี้ให้แก่ Stakeholder ได้ในระดับที่เหมาะสม

แผนที่สอง คือแผนบรรเทา (Continuity Plan) ทั้งนี้เมื่อเกิด Social Impact ขึ้นทั้งในระยะสั้น หรือระยะยาว องค์กรมีศักยภาพที่จะสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ การบรรเทาดังกล่าวหมายถึง องค์กรสามารถที่จะดำเนินการธุรกิจของตนเอง และให้การ Support Stakeholder ที่เกี่ยวข้องได้ภายใต้ภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งถึงแม้จะไม่เต็มร้อย แต่ก็ทำให้การดำเนินธุรกิจหรือดำรงชีวิตต่อเนื่องไปได้

แผนที่สาม คือแผนปรับตัว (Risk Mitigation) เป็นการมองไปในระยะยาว คือจะต้องปรับตัวให้อยู่ในสภาพการใหม่ได้ (New Normal) ตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทย ทั้งนี้มีโรงงานหลายแห่ง ต้องเตรียมแผนโยกย้ายไปสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมต่ำ โดยไม่ต้องรอดูผลของแผนเงินกู้ 3.5 แสนล้าน

ย้อมกลับมาดูการประชุมของ IPCC ความจริงการประชุมของในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นเพียงการประชุมรอบแรกเท่านั้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ยังมีการประชุมอีกสองนัดที่จะตามมา คือการประชุมของคณะกรรมการชุดที่สอง ซึ่งจะถกแถลงกันถึงเรื่อง ผลกระทบการติดตามปัญหาและความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ และการประชุมของคณะกรรมการในรอบที่สาม จึงจะคุยกันถึงแผนการแก้ไขปัญหา Climate Change กันอย่างจริงจัง ซึ่งก็จะต้องรอดูว่าการประชุมครั้งถัดไป จึงสามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้หรือไม่

ส่วนแนวโน้มการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในบ้านเรา ก็ยังคงเป็นปัญหาเหมือนอย่างที่เคย คือ ท่วมทีแก้ที ก็คงต้องภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าอย่าในฝนตกบ่อยมากนัก อย่างไรก็ตามปัญหาโลกร้อนที่มีการยืนยันกันอย่างเป็นทางการแล้วว่าเกิดขึ้นจริง ก็คงทำให้เกิด พายุฝนฟ้า แรงขึ้นมากขึ้น ตามลำดับ ก็ต้องคอยดูกันว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สุดท้ายนี้ ในส่วนขององค์กรหรือบริษัทเอกชนคงทำเพิกเฉยต่อปัญหานี้ต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ เพราะปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่จะอยู่กับมนุษยชาติอีกนาน การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Impact) ควบคู่กันไป และถ้าจะยืมสูตร แก้ไข บรรเทา ปรับตัว ที่ผู้เขียนเสนอไว้ไปใช้ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะองค์กรหรือธุรกิจคงต้องมุ่งเดินหน้ากันต่อไปอย่างยั่งยืน
.................
CChaiyoot





No comments:

Post a Comment