Wednesday, November 6, 2013

เมื่อ 2 มากกว่า 3: พลังของกิจการเพื่อสังคม

เมื่อเร็วนี้ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Iron Man 3

นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับเกราะเหล็กสุดไฮเทค ยังมีคำถามเชิงปรัชญาติดกลับมาด้วย

ระหว่างเกราะเหล็ก กับโทนี สต็าร์ก ใครคือ Iron Man ตัวจริงกันแน่?


เมื่อกล่าวถึง CSR ขององค์กรธุรกิจใหญ่ๆ แล้ว เราจะพบว่าต่างก็อ้างเป็นเสียงเดียวกันว่า CSR ขององค์กรนั้นๆ ตั้งอยู่บน หลักการที่เรียกว่า Triple Bottom Line หรือที่ใช้อักษรย่อว่า 3BL หรือจะเรียกในภาษาไทยให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ "กำไรสามชั้น"

กำไรชั้นแรก คือ "Profit" หรือ เงินที่เป็นกำไรของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจทุกแห่งต้องมีเพราะไม่เช่นนั้น ก็จะต้องล้มหายตายจากไป

กำไรชั้นสอง คือ "People" หรือ คน ซึ่งตรงนี้ก็จะเริ่มมีปัญหาขึ้น เพราะคำว่า "คน" ในที่นี้องค์กรหมายถึงใคร? อาจจะหมายถึง ลูกค้า พนักงาน ชุมชนที่ตั้งอยู่ หรือ สังคมทั้งหมด (Society At Large) ซึ่งการกำหนดเป้าหมายตรงนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดสำคัญที่จะแสดงว่าองค์กรนั้นมี CSR ที่ดี หรือเป็นเพียงแต่การสร้างภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดคือ ใครเป็นผู้กำหนดเป้าหมายนี้? ที่ผ่านมาจะพบว่า จะมีเพียงแต่ CSR Officer หรือ PR Officer ที่พยายามจะอธิบายเรื่องนี้ตามหน้าที่เท่านั้น

กำไรขั้นที่สาม คือ "Planet" หรือ โลกหรือสภาวะแวดล้อม คำคำนี้ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก ปัญหาที่เราเรียกว่า Global Warming คือปัญหาสุดท้ายของปัญหาสภาวะแวดล้อม ซึ่งหาเจ้าภาพไม่ได้ และที่จริงไม่ก็ไม่มีองค์กรธุรกิจรายใดจะแก้ไขได้ เนื่องจากปัญหานี้เป็น "กรรมร่วม" (Collective Effort) ของโลกอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ซึ่งองค์กรธุรกิจทุกคนมีส่วนร่วมในปัญหาแต่ก็ใช่ว่าใครจะสามารถแก้ไขโดยผู้เดียวได้ ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงมีอาการ "แตกซ่าน" กล่าวคือหลายรายจะระบุว่าปัญหาสภาวะแวดล้อมไม่เกี่ยวกับองค์กรของเขา หรือถ้าสุดขั้วอีกด้านหนึ่งก็คือองค์กรจะปฏิบัติตามกฏหมายหรือกฏเกณฑ์ (Regulatory Enforcement) ที่มีอยู่เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป การทำกิจกรรม CSR ขององค์กรธุรกิจในบ้านเรา ยังเป็นแต่เพียง "วาทกรรม" ที่มุ่งเน้นการสร้างภาพพจน์แบบ Reactive กล่าวคือถ้าไม่มีมวลชน หรือตัวแทนจากภาคส่วนอื่น มาเพ่งเล็งกล่าวโทษในเรื่องนั้นๆ องค์กรก็มักจะมองข้ามปัญหานั้นไป

ดังนั้น CSR ที่ดีจึงต้องมีการศึกษาปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง และร่วมลงมืออย่างลึกซึ้งกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ตาม Sphere Of Influence เพื่อให้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง ริเริ่มและลงมือปฏิบัติพร้อมเพรียงไปกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Social Engagement) อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่จะต้องทำกันชั่วชีวิต และยังต้องสืบทอดต่อกันไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย

เข้าทำนองที่ว่า "ผู้รู้จึงปฏิบัติ ผู้ลงมือปฏิบัติเพราะต้องการที่จะรู้" การจับปัญหาอย่างฉาบฉวย แล้วไปปฏิบัติเลย ก็จะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร และอาจจะซ้ำเติมปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อมไปอีก

อันที่จริง 3BL นั้นเป็นหลักการที่สำคัญในเรื่อง CSR ประการหนึ่ง เพราะมันคือ "A Business Metaphor for A Social Construct" หรืออธิบายเป็นภาษาง่ายๆ ว่าเป็น แนวคิดทางธุรกิจที่ใช้เปรียบเทียบเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างทุนสังคมภายในองค์กร คำถามสำคัญคือ แนวคิดนี้ใช้เปรียบเทียบกับอะไร คำตอบที่ได้คือ 3BL นั้นใช้เปรียบเทียบกับแนวคิดการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ยึดเป้าหมายเพียงประการเดียว คือ "การแสวงหากำไร" (Maximize Profit Metaphor)

แนวคิดนี้สันนิษฐานว่าเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 2004 โดยในปี 2007 สหประชาชาติและองค์กรอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นมาตรฐานในการรายงานและการทำบัญชีของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทำให้แนวคิดนี้ถูกใช้อย่างแพร่กระจายมากขึ้นในแวดวงของการทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

และความแพร่กระจายดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้แนวคิด 3BL ด้อยคุณค่าลงไป เพราะแทนที่จะนำไปใช้ในการเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการและผู้บริหารซึ่งต้องเป็นบุคคลแรกในองค์กรที่อธิบาย 3BL ขององค์กรให้ได้เสียก่อน กลับถูกนำไปใช้กล่าวอ้างกับบุคคลภายนอกองค์กร

เมื่อเกิดแนวคิดเรื่องกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา กิจการเพื่อสังคม จึงต้องการแนวคิดใหม่ๆ เพราะกิจการเพื่อสังคมนั้นเปรียบได้กับองค์กรธุรกิจพันธุ์ใหม่ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมติฐานการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ดังนั้น แนวคิดของ 3BL จึงไม่เหมาะกับสภาพการสร้างผลตอบแทนทางสังคม-เศรษฐกิจ

เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาในการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม แนวคิดของกิจการเพื่อสังคมจึงตั้งอยู่บนหลักการของ Double Bottom Line หรือ "ผนึกกำลังสองระดับ" หรือ เรียกย่อๆ ว่า "2BL" ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นมาจนเรียกใหม่ว่า "Blended Value"

ที่เรียกว่าสองระดับนั้นมาจากเรื่อง Outcome ของการดำเนินงานทางธุรกิจ ในกิจการเพื่อสังคมจะถือว่าการดำเนินธุรกิจนั้นจะต้องสร้าง Outcome มาได้สองระดับพร้อมกันเสมอ นั้นคือ Financial Return และ Social Return หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ Financial Performance และ Social Impact

ในเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินและผลตอบแทนทางสังคมนั้น เป็นเรื่องของการวัดประสิทธิผล ซึ่งต้องสามารถวัดได้ทั้งสองกรณีพร้อมกัน และในเรื่องของประสิทธิภาพทางการเงินและผลกระทบทางสังคมนั้น เป็นการมองเรื่องของ Outcome ซึ่งกิจการเพื่อสังคมจะต้องสร้าง Outcome ทั้งด้านการเงินและด้านสังคมออกมาพร้อมกัน

ดังนั้นถึงจะมีแค่สองระดับ แต่ 2BL นั้นสร้างผลตอบแทนในลักษณะผนึกรวม ซึ่งมีพลังมากกว่าการสร้างผลตอบแทนใน 3BL เพราะทัศนคติสำคัญใน 3BL คือ กำไรต้องมาก่อน ธุรกิจจึงจะไปมองถึงการสร้างผลตอบแทนทางสังคมหรือผลตอบแทนทางสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างสำคัญของความสำเร็จของ 2BL และ กิจการเพื่อสังคม คือ "ธนาคารคนจน" หรือ กรามีนแบงค์ ซึ่งก่อตั้งโดย มูฮัมหมัด ยูนูส ในปี 1976 ซึ่งเป็นการย้อนทวนกระแสความคิดในการทำธุรกิจทางการเงินว่า คนจนน่าจะมีแนวโน้มในการผิดนัดชำระหนึ้มากกว่าคนรวย ดังนั้นธนาคารในกระแสหลักจึงมีนโยบายที่จะไม่ปล่อยกู้ให้กับคนจน ซึ่งยูนูสปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว ดังนั้นเขาจึงตั้งกรามินแบงค์ขึ้นมา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนจนมีอัตราการผิดนัดชำระหนึ้ต่ำกว่าคนรวยเสียอีก ซึ่งความสำคัญอันนี้ไม่เพียงแต่ทำให้กิจการของกรามินแบงค์ดำเนินงานได้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่คือ "ธนาคารทางเลือก" หรือ "ธนาคารคนจน" ขึ้น ทำให้เกิดคุณูปการ ต่อคนจนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

การเจริญเติบโตของกิจการเพื่อสังคมจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา สังคม-เศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะใช้ทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และยังแก้ไขปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ดังที่รายงานในปัจจุบันจากประเทศอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษอย่างจริงจัง และมีผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษ มีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าการทำธุรกิจตามปกติ ถึงแม้ทั่วโลกจะอยู่ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจก็ตาม

ดังนั้นเมื่อย้อนไปที่ปัญหาของ Iron Man ที่ได้กล่าวในตอนเริ่มต้นบทความ คำตอบจึงอยู่ที่ว่า ตัวตนที่แท้จริงของ Iron Man ก็คือการผนึกรวมของตัวโทนี สต็าร์ก และเกราะเหล็กสุดไฮเทคนั่นเอง เพราะถึงแม้เกราะเหล็กจะมีความเก่งฉกาจอย่างไรก็ตาม แต่ก็ถูกทุบทิ้งได้โดยง่าย ต้องอาศัย "จิตวิญญาณ" ของสต็าร์ก จึงจะผนึกรวมสำเร็จ ดังนั้นไม่ว่าศัตรูจะทุบเกราะทิ้งไปเท่าไรก็ตาม Iron Man ก็จะกลับมาพิชิตศัตรูจนได้ในที่สุด

ขอให้กิจการเพื่อสังคมที่เพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทย พึ่งระลึกประเด็นนี้ไว้ให้ดี ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้นำของกิจการเพื่อสังคมในประชาคมโลกได้

CChaiyoot
06 November 2013




No comments:

Post a Comment