Sunday, February 9, 2014

อย่าซีเรียส! ตลกร้ายของการเลือกตั้ง

ขณะที่เริ่มต้นเขียนบทความนี้ เป็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 หนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง ที่มีผู้ตั้งชื่อไว้ว่าเป็น วันปิคนิคแห่งชาติ

บทความนี้คงไม่คุยถึงเรื่องการเมือง

แต่วันเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญประการหนึ่งของบ้านเมือง จึงอดที่จะพูดถึงไม่ได้

สิ่งที่จะพูดถึงก็ยังคงเป็นประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลเช่นเคย และไม่ว่าจะเป็น ธรรมาภิบาลระดับประเทศ ระดับองค์กร หรือแม้แต่ระดับบุคคลเองก็ตาม หลักการของธรรมาภิบาลนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ปัจจัยและผลกระทบที่เกิดมีความกว้างขวางแตกต่างกันเท่านั้น

การเลือกตั้งที่ผ่านมา เปรียบได้กับตลกร้ายที่ประชาชนไทยอาจจะหัวเราะไม่ค่อยออก แต่ก็สะท้อนหลักการพื้นฐานที่สำคัญข้อหนึ่งของการบริหารหรือการปกครองอย่างมีธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี


ภาพการ์ตูนของฝรั่งที่แซวการเลือกตั้ง จาก http://thecollaboratory.wikidot.com/state-and-local-government-2012-13

หลักการที่ว่านี้คือ

Form and Substance

ในภาษาไทย คำที่ใช้โดยทั่วไปคงมีอยู่ประมาณว่า "รูปแบบและสาระ" ซึ่งฟังดูง่ายๆ แล้วไม่ค่อยจะรู้สึกตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่หลักการธรรมาภิบาลข้อนี้มีความลึกซึ้งที่คนทั่วไปเข้าใจไม่ทั่วถึง


คำว่า "Form" โดยทั่วไปแปลว่า "รูปแบบ" ในทางธรรมาภิบาลหมายถึง ข้อกำหนด ระเบียบปฏิบัติ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ โดยรวมแล้วหมายถึง รูปแบบการปฏิบัติขององค์กร หรือคณะบุคคลที่ยึดถือปฏิบัตกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

คำว่า "Substance" หมายถึง "สาระ" ในทางปฏิบัติหมายถึง เป้าประสงค์ อุดมคติ ผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื้อหาของงานที่ทำ และอื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้ความหมายของ "สาระ" มักอยู่ในรูปของนามธรรม ที่ไม่อาจจับต้องได้ง่าย แต่มักจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรหรือคณะบุคคล ประพฤติหรือปฏิบัติไปในแนวทางที่ทำให้เกิด "รูปแบบ" ขึ้นมา โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าคำโบราณของไทย คือคำว่า "หัวใจ" มีความหมายที่ตรงกับคำว่า Substance

ในเรื่องของวิชาชีพบัญชีนั้น มีหลักการที่สำคัญข้อหนึ่งที่เรียกว่า "Substance Over Form" ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งในเรื่องของการลงตัวเลขในทางบัญชี เนื่องจากกฎเกณฑ์ทางบัญชีมีความซับซ้อนสูง และบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งระหว่างการปฏิบัติและหลักบัญชี ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผู้รู้จะให้นักบัญชีเลือกเอา "สาระ" มากกว่า "รูปแบบ" เพื่อในการลงบัญชีและการแสดงข้อมุลทางบัญชี มีความถูกต้องตามข้อเท็จจริง

ในทางธรรมาภิบาลจะกล่าวถึงหลักการนี้ในรูปของ "Form and Substance" ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับรูปแบบและสาระ อย่างสมดุลย์ การมีแต่รูปแบบโดยขาดสาระ มักจะทำให้การปฏิบัติหรือการดำเนินงาน ขาดความชอบธรรม และไม่เกิดผลลัพธ์ที่ตรงกับเป้าประสงค์ของการจัดตั้งรูปแบบนั้นๆ ขึ้นมาตั้งแต่ต้น

การเน้นเรื่องของสาระโดยขาดแคลนรูปแบบที่เหมาะสม ก็มักจะทำให้การปฏิบัติหรือการดำเนินการในเรื่องใดๆ ก็ตามขาดความชัดเจน ผู้อื่นที่ปฏิบัติตามขาดความมั่นใจ และไม่สามารถทำให้การดำเนินงานเกิดความยั่งยืนได้ ถึงแม้สาระ หรือ "หัวใจ" ดังกล่าวจะมีความชอบธรรมอยู่สูงแล้วก็ตาม เพราะว่าการดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรหรือคณะบุคคลนั้น ต้องการ "ความเป็นกลไก" ที่จัดตั้งได้รวดเร็ว และสร้างประสิทธิผลได้ง่าย

ดังนั้นในทางธรรมาภิบาลจึงเน้นความสำคัญของทั้งรูปแบบและสาระไปพร้อมกัน เนื่องจากเมื่อเราพูดถึง คำว่า Good Governance นั้นไม่ได้มีความหมายถึงคำว่า "ที่ดี" แต่เพียงประการเดียว แต่หมายถึง "การบริหารจัดการที่ดี" หรืออาจจะพูดถึง "ความเป็นผู้นำที่ดี" หรืออาจจะหมายถึง "การปกครองที่ดี" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคำใด หัวใจอยู่ที่การดำเนินการที่ทำให้เกิด "ผลลัพธ์ที่ดี" ด้วย "วิธีการที่ดี" หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเป็นผู้นำที่ดี คือการเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรม

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นตลกร้ายของประชาชนไทย นอกเหนือจากการสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมากแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่า คงจะไม่สัมฤทธิ์ผลตาม "หัวใจ" ของหลักประชาธิปไตยได้ แต่ก็ยังฝืนจัดขึ้นมา โดยเพื่อให้รักษา "รูปแบบ" ไว้เพียงอย่างเดียว

ส่วนอีกด้านหนึ่ง การประท้วงที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถึงแม้จะมี "สาระ" หรือ "หัวใจ" ที่ดีก็ตาม แต่การขาดรูปแบบที่จะตอบโจทย์ของการบริหารกิจการบ้านเมืองต่อไป (หรือยังอาจจะยังไม่ถึงเวลา) ก็อาจจะทำให้ภารกิจที่กระทำอยู่นั้น อาจจะไม่สามารถดำเนินได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

ทางออกจึงต้องอาศัยทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม

ในส่วนขององค์กรเอกชนทั่วไปนั้น หลักการ Form and Substance จะเห็นได้จากการจัดตั้งฝ่ายจัดการขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจขององค์กร

ถ้าเป็นองค์กรขนาดเล็ก หรือ SME ทั่วไปนั้นปัญหานี้อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก

เนื่องจาก เจ้าของมักจะเหมาตำแหน่ง "เถ้าแก่" และ "กรรมการผู้จัดการใหญ่" ไว้ในคนคนเดียวกัน รูปแบบและสาระจึงรวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรเติบโตขึ้น การขยายทีมงานจัดการเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมีการแยก "การบริหารจัดการ" และ "การกำกับดูแล" ออกจากกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อการดำเนินงาน ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้น

การแต่งตั้งฝ่ายจัดการนั้น หลายท่านยังอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เนื่องจากอำนาจในการแต่งตั้งนั้นทำได้เป็นการภายใน โดยไม่ต้องขอความเห็นจากใคร แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงแค่รูปแบบเท่านั้น ทั้งนี้สิ่งที่เป็นสาระก็คือ ผู้นำที่แต่งตั้งขึ้นมานั้น มีความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กรหรือไม่

คำว่า "ความสามารถ" หรือ "ความเป็นผู้นำ" นั้นเป็นนามธรรมถกเถียงกันได้ตลอดเวลา ดังนั้น "ขบวนการคัดสรรผู้นำ" จึงเป็นขบวนการที่สำคัญขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี

ขบวนการคัดสรรผู้นำที่โด่งดังที่สุดในโลก คือกรณีของการคัดเลือก Jeff Immelt ขึ้นมาเพื่อแทนที่ Jack Welch ของ บริษัท General Electric (GE) ในปี 2000 ซึ่งกว่าที่ Immelt จะได้รับการคัดเลือกเป็น CEO ของ GE นั้น ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี โดยจะต้องผ่านผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก และหลักเกณฑ์ในแต่ละรอบที่มีการคัดเลือกนั้นเป็นที่เปิดเผยและยอมรับกันทั่วทั้งองค์กร

ขบวนการคัดสรรผู้นำของ GE นั้น ดำเนินการโดย Jack Welch ซึ่งเป็น CEO คนก่อนของ GE. Welch เป็น CEO ที่โด่งดังที่สุด เขาเป็น CEO ของ GE อยู่ 20 ปี โดยสามารถเพิ่มมูลค่าของบริษัท ในช่วงเวลาที่เขาเป็น CEO ได้มากกว่า 4000% ทั้งนี้ Welch เล็งเห็นความสำคัญของขบวนการ Succession Plan เนื่องจากเขาได้วางแผนที่จะเกษียณอายุตัวเองอย่างชัดเจน จึงได้จัดรูปแบบของขบวนการคัดเลือกอย่างชัดเจน จนได้ตัวของ Jeff Immelt ที่เขามีความมั่นใจว่าจะสามารถ "สืบทอด" กิจการของ GE ต่อไปจากเขาได้

ดังนั้นผู้นำขององค์กรขนาดใหญ่จึงไม่ได้มาอย่างง่่ายดาย หรืออาศัยเพียงสายสัมพันธ์ที่เป็นที่รู้จักของผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้น ในประเทศไทยเราจึงเห็นปัญหาของการคัดเลือกผู้นำขององค์กรอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ในบ้านเรา

ความสมดุลย์ของรูปแบบและสาระ จึงเป็นหลักการที่สำคัญสำหรับการบริหารกิจการที่ดี ไม่เพียงแต่ในขบวนการคัดสรรผู้นำเท่่านั้น แต่สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญขององค์กร ต่างก็ต้องการที่จะมีความสมดุลย์ดังกล่าว

สำหรับเรื่องราวของบ้านเมือง ในขณะนี้การได้แต่เพียงฝันถึงความสมดุลย์ของรูปแบบและสาระ ในขบวนการประชาธิปไตยของบ้านเรา หวังว่าคงจะฝันไม่นาน...



CChaiyoot  
2014.02.09


No comments:

Post a Comment