เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ในกรณีน้ำมันรั่ว และความเสียหายต่อระบบนิเวศน์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในอ่าวพร้าว ยังเป็นที่โจษจรรย์กันอย่างกว้างขวาง
ภาพจาก http://www.houstonchronicle.com
ถึงแม้ธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย จะโหมกระแสซีเอสอาร์กันอย่างหนักหน่วง ไม่ว่างบประมาณจำนวนมาก หรือการประชาสัมพันธ์อย่างเหลือล้น จนทำให้ภาพของซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบต่อสังคม กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของบริษัทที่กระเป๋าหนักเท่านั้น
แต่งบประมาณปริมาณดังกล่าวดูจะไม่ส่งประสิทธิภาพแต่ประการใด เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจริงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะความเสียหายดังกล่าวนั้นมีมูลค่ามากกว่างบประมาณประชาสัมพันธ์เหล่านั้นอย่างมหาศาล
ดังนั้นจึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ สำหรับผู้นำองค์กรชั้นนำในเมืองไทย เพราะนอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์แล้ว คำถามสำคัญคือ ผู้นำองค์กรใช้งบซีเอสอาร์จำนวนมากเพื่ออะไร? เพื่อสร้างภาพพจน์ให้กับตนเอง หรือเพื่อพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หรือเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับองค์กร
ถ้าตั้งคำถามนี้ให้กับผู้นำองค์กรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็จะหลบเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ และผ่านคำถามไปให้ฝ่ายงานที่ทำงานด้านซีเอสอาร์ในองค์กร และถ้าจี้ถามติดตามเพียงแค่ความเห็น ต่างคนก็จะเลี่ยงที่จะลงรายระเอียด (เพราะว่าไม่รู้) โดยงัดหลักธรรมจากสำนักต่างๆ มาแถลง
เนื่องจากผู้บริหารไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่อง ซีเอสอาร์ และไม่เคยมีแรงกระตุ้นที่จะสนใจใคร่รู้ในเรื่องซีเอสอาร์ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ หรือไม่เกี่ยวข้องกับ KPI ของตนเอง
ความเชื่อของผู้บริหารดังกล่าว ถือได้ว่าเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ดังผลลัพธืที่มักจะเห็นกัน คืออายุทำงานของผู้บริหารเหล่านี้มักจะหมดไปก่อนเวลาอันควร
เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้บริหารไทย จะยกตัวอย่างของกรณีศึกษาที่คล้ายๆ กับกรณีของบ้านเรา แต่เป็นของต่างประเทศที่ชื่อว่า “Deep Water”
กรณีของดีฟวอเตอร์ เกิดขึ้นในปี 2553 ณ.อ่าวเม็กซิโก
ในวันที่ 20 เมษายน ได้เกิดการระเบิดขึ้นที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน “Deepwater Horizon” ในอ่าวเม็กซิโก ของบริษัท บีพีออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ระดับโลก การระเบิดดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึง 11 คน แต่ที่สำคัญคือได้ิเกิดมีน้ำมันรั่วไหลจากการที่แท่นขุดเจาะเสียหาย โดยกว่าที่จะปิดหลุมขุดเจาะได้ ก็ล่วงเลยไปถึงวันที่ 19 กันยายน โดยปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาทั่วอ่าวเม็กซิโก คาดว่ามีถึง 4.9 ล้านบาร์เรล นับได้ว่าเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขว้างมาก ความเสียหายด้านสภาพแวดล้อมนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถประเมินค่ากันได้เลยทีเดียว มีการประเมินกันว่า มีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบถึง 8,332 สายพันธุ์เลยทีเดียว โดยยังไม่นับผลกระทบต่อมนุษย์ จนถึงทุกวันนี้ ในเดือนกรกฏาคมที่เพิ่งผ่านมา มีการพบก้อนน้ำมันที่มีปริมาณถึง 40,000 ปอนด์ ในมลรัฐหลุยเซียน่าของสหรัฐอเมริกา
เมื่อเริ่มเกิดเหตุ ทางบีพีออยล์ ได้ออกมาประกาศความรับผิดชอบ และพยายามอธิบายว่าปัญหาดังกล่าวเป็น “ปัญหาทางเทคนิค” โดยพยายามกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นของบริษัทรับเหมาในการขุดเจาะน้ำมัน ที่ทางบีพีออยล์ว่าจ้างมา และได้พยายามเปิดเผย “ข้อเท็จจริง” อย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตามเมื่อ “ข้อเท็จจริง” ปรากฎ ปัญหาทางเทคนิคที่ทางบีพีออยล์พยายามที่จะอธิบาย ได้กลายเป็น “ปัญหาความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เกินกว่าคำอธิบายเรื่องปัญหาทางเทคนิค ดังนั้นทางรัฐบาลอเมริกาจึงได้ดำเนินการฟ้องร้องทางอาญาต่อบีพีออยล์ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โดยขั้นต้นได้เรียกค่าปรับไปถึง 4.525 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงปัจจุบัน บีพีออยล์ ได้ทำการจ่ายค่าปรับค่าเสียหายต่างๆ จากกรณีนี้ไปถึง 42.2 พันล้านเหรียญ
นอกจากเหตุการณ์ตามกรณีที่เป็น “อุบัติเหตุ” (Incident) แล้ว เรื่องสำคัญที่น่าสนใจคือพฤติกรรมและสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำของบีพีออยล์ในขณะนั้นโทนี่ เฮย์วาร์ด คือชื่อของ CEO บีพีออยล์ ณ.เวลานั้น
โทนี เฮย์วาร์ด เริ่มรับหน้าที่เป็น CEO ของ บีพีออยล์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 โดยใต่เต้ามาจากตำแหน่งบริหารภายในของบีพี มาตั้งแต่ ปี2525 นับเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของบีพีออยล์เลยทีเดียว โดยที่ โทนี ได้รับตำแหน่ง CEO เพื่อแทนที่ ลอร์ดบราวน์ ที่ต้องออกจากตำแหน่งก่อนวาระเนื่องจากปัญหาในการดูแลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากปัญหาของ CEO คนก่อน หลังรับตำแหน่ง โทนี จึงวางนโยบายในการปรับปรุงงานด้านการแสดงความรับชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
และเมื่อเกิดปัญหากรณี Deepwater ขึ้น โทนีก็ได้ดำเนินการตามขบวนการที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อขนาดของปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังของสังคมก็สูงขึ้นอย่างมากมาย การปฏิบัติตาม “วาทกรรม” จึงเริ่มไม่เพียงพอ สังคมของอเมริกา ได้เริ่มพูดกันอย่างหนาหู ถึงความพยายามในการปกปิดข้อมูล การไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงที การไม่แสดงความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่พุ่งเป้าไปที่ โทนี ในฐานะของ CEO ของบีพีออยล์ในขณะนั้น
ความรุนแรงของคำวิจารณ์ได้เริ่มขยายตัวขึ้น เริ่มมีการพูดถึง โทนี เฮย์วาร์ดโดยตรงอย่างไม่ไว้หน้า จนมีข้อเรียกร้องจากตลาดทุนให้โทนีลาออก แต่ก็ไม่มีคำตอบแต่ประการใด ในที่สุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีการใต่สวนบริษัทบีพีออยล์ จากกรณีที่เกิดขึ้น ถึงแม้ บีพีออยล์จะเป็นบริษัทที่ก่อตั้งในอังกฤษ และเหตุที่เกิดก็เกิดในเขตแดนของเม็กซิโก แต่่รัฐสภาอเมริกา ถึงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนถึงประชาชนและสังคมของอเมริกา
และในที่สุดฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง ในวันที่ 19 มิถุนายน 2553 โทนีได้เข้าร่วมการแข่งขันเรือยอร์ช ซึ่งเป็นกีฬาที่เขาโปรดปราน แต่ปัญหาก็ตือในวันก่อนหน้านั้น คือวันที่ 18 โทนีเพิ่งผ่านการให้ปากคำกับคณะกรรมการวุฒิสภาของสหรัฐ ซึ่งสังคมอเมริกาได้ตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง โดยที่นายราฮ์ม เอมานูเอล ประธานคณะทำงานส่วนตัวของโอบามาในขณะนั้นได้ระบุว่า การกระทำของโทนีนั้น “ไม่เหมาะสม”
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบีพีออยล์ได้มีมติให้โทนี ออกจากงาน โดยบีพีออยล์ได้ประกาศในในวันที่ 27 กรกฏาคม 2553 ว่า บริษัทได้แต่งตั้งให้ บ๊อบ ดูด์เลย์ เข้ารับตำแหน่งแทนโทนี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 จากเหตุเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงสิ้นเดือนกันยายน กินเวลาร่วม 4 เดือนกว่า ก่อนที่ CEO ของบีพีออยล์จะออกจากตำแหน่ง
เหตุการณ์ Deepwater ของบีพีออยล์ ถึือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดี ถึงแม้ขนาดของปัญหาจะแตกต่างกันเป็นอย่างมาก แต่ลักษณะของปัญหานั้นก็เดินไปในทำนองเดียวกัน ของแตกต่างที่สำคัญคือ สังคมอเมริกามีความเจริญก้าวหน้ากว่าสังคมไทยมาก และสถาบันต่างๆในอเมริกาก็มีการทำงานที่แตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็นับได้ว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับผู้นำไทย ถึงแม้เหตุการณ์น้ำมันรั่วและเหตุการณ์ที่อ่าวพร้าว ก็คงไม่สามารถหา “ใบเสร็จ” ได้ตามเคย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้นำและผู้บริหารขององค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทย คงต้องจดจำบทเรียนนี้ไว้ว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว” อีกต่อไป และการบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นปัญหาของฝ่ายงาน หรือเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์อีกต่อไป และเวลาที่ผู้บริหารจะต้องถอดสูท ถอดเนคไท พับแขนเสื่อ เพื่อกระโดดลงมาทำงานร่วมกับชุมชนนั้น อาจจะมีเวลาเหลือให้เพียงแค่ช่วงกระพริบตา
No comments:
Post a Comment