Monday, September 23, 2013

ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยไทย จึงจะลงมาคลุกกับปัญหาสังคมอย่างจริงจัง

17 กันยายน 2556 วันนี้มีเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งหลายคนคงมองผ่านไป และไม่คิดว่าจะมีความสำคัญอะไร แต่ที่คณะสังคมศาสตร์ ในช่วงบ่ายได้มีพิธีบันทึกความตกลงร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และทางมหาวิทยาลัยศรีนทรวิโรฒ เพื่อที่จะส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเป้าหมายเพื่อให้เกิดระบบการพัฒนาคนพิการให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เหมือนกับคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงานของคนทำงาน หรือตลาดแรงงานของผู้ประกอบการ (Inclusive Entrepreneurship) และมุ่งประเด็นผลักดันและการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในฐานะที่เป็นเจ้าของตลาด เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนให้กับสังคม โดยผ่านทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการ


เดือนกันยายน สำหรับข้าราชการไทยทุกคนเป็นเดือนที่สำคัญ เพราะว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ และเป็นเดือนที่จะต้องสรุปผลงานประจำปี เลี้ยงอำลาผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ เลี้ยงต้อนรับผู้ที่จะได้รับตำแหน่งใหม่ ฯลฯ

และเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา มีการแถลงความร่วมมือที่สำคัญ เกิดขึ้นภายในรั้ว มศว. นั่นคือการแถลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กรมการจัดหางาาน และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการที่จะร่วมมือผลักด้นและสนับสนุนส่งเสริมร่วมกับภาคเอกชน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยลงมือในพื้นที่จริง เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ตามปกติ

     ภาพบนเวที ขณะที่ตัวแทนขององค์กรที่แถลงความร่วมมือกำลังแถลงข่าว


สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักด้านนโยบาย โดยผ่านทาง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2554 และมีเครื่องมือที่สำคัญคือ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่สามารถให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือคนพิการในด้านต่างๆ ได้

อย่างไรก็ดีงานสำคัญอันหนึ่งของ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า พก. ก็คือการพัฒนาให้คนพิการเข้าสู่การมีอาชีพในสังคมปกติ (PWD Employability) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้วาทกรรมหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสองประการ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับคนพิการ (PWD Empowerment) และ สังคมอยู่เย็นเป็นสุข (Inclusive Society)

ในการนี้ ทาง พก. มีเครื่องมือที่สำคัญภายใต้ พรบ. ก็คือกฏหมายที่เรียกกันย่อๆ ว่า มาตรา 33, 34 และ 35 ซึ่งจะกล่าวเพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ ดัวนี้ว่า มาตรา 33 ได้ระบุให้สถานประกอบการทุกชนิด ต้องมีการจ้างงานคนพิการ ไม่น้อยกว่าอัตราส่วน 100:1 ส่วนมาตรา 34 ระบุว่าถ้าสถานประกอบการไม่สามารถว่าจ้างคนพิการได้ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในมาตรา 33 สถานประกอบการจะต้องจ่ายเงินชดเชยเข้า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสุดท้ายคือในมาตรา 35 ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าสถานประกอบการไม่ต้องการจะจ่ายเงินสมทบ ก็สามารถนำเงินดังกล่าวไป "กระทำการอื่นใด" เพื่อให้คนพิการมีงานทำ

ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ทาง พก. ได้เร่งส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายตาม พรบ. ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชน ผลปรากฎว่า คนพิการมีงานทำเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมีเงินที่สมทบเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า ซึ่งหมายความว่า มาตรา 33 มีผลเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เป็นน่าพอใจ กลับเป็น มาตรา 34 ที่ได้รับเงินเข้ากองทุนอย่างมากมายมหาศาล และมาตรา 35 ซึ่งมีผลกระทบน้อยมาก ในเรื่องนี้ ท่าน นภา เศรษฐกร ในฐานะเลขาธิการของ พก. ได้กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐไม่ได้ต้องการที่จะไปเก็บเงินเพิ่มเติมจากภาคเอกชน ทั้งนี้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภาครัฐได้มีงบประมาณประจำที่จัดสรรไว้เพียงพออยู่แล้ว และโดยส่วนตัวเห็นว่า มาตรา 35 จะเป็นกฎหมายที่สร้างให้เกิดผลด้านบวกได้มากที่สุด ทั้งนี้ การที่อัตราการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 ยังเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นที่น่าพอใจนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่ภาคเอกชนพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่เป็นปัญหาทางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายประการ เช่น การที่คนพิการส่วนใหญ่ยังมีคุณวุฒิทางการศึกษาต่ำเกินไป ปัญหาที่ครอบครัวคนพิการไม่ยินยอมให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ ปัญหาการปรับตัวของคนพิการให้เข้ากับชีวิตการทำงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ดังนั้น มาตรา 35 จึงเป็นการเปิดช่องให้ภาคเอกชน จัดการกับปัญหานี้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิด win-win condition ขึ้น กล่าวคือ ทางภาคเอกชนก็จะได้แรงงาน สินค้า หรือการบริการ ซึ่งสามารถจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของตนเองได้ คนพิการก็จะได้อาชีพที่มีความยั่งยืน เนื่องจากทางภาคเอกชนมีความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ เช่น ระบบ HR Management เป็นต้น

สำหรับ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นองค์กรอีกแห่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และอาชีพของคนพิการ ท่าน ธนิช นุ่มน้อย ได้กล่าวว่า ภารกิจหลักของกรมจัดฯ อยู่ที่การดูแลระบบการจัดหางาน ที่ครอบคลุมบุคคลผู้ต้องการจะทำงานทุกประเภทอยู่แล้ว ทั้งนี้ในส่วนของคนพิการ ทางกรมจัดหางาน ไม่ได้มองว่ามีจำนวนน้อย และไม่สำคัญ ทั้งนี้ตามภารกิจในการที่จะต้องเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ตาม พรบ.มาตรา 33, 34 และ 35 อยู่แล้ว จึงเห็นว่าการจัดระบบการจัดหางานให้กับคนพิการนับเป็นความท้าทาย ทั้งนี้ถ้าทำได้ดีก็จะสามารถไปปรับปรุงงานในภาคส่วนอื่นได้ เพราะปัญหาของการจัดหางานให้กับคนพิการนั้นเป็นปัญหาเดียวกับการจัดหางานประเภทอื่น คือเป็นปัญหา Demand-Supply Gap

ทั้งนี้ในฝั่งนายจ้าง เมื่อทราบว่าจะต้องจ้างคนพิการตามอัตราส่วน ก็มักจะเลือกที่จะจ่ายเงินสนับสนุนมากกว่าที่จะทำการปรับปรุงระบบงานภายในต่างๆ เพื่อให้สามารถจ้างคนพิการได้ เพราะไม่ยุ่งยาก ทั้งนี้เงินสนับสนุนตามกฎหมายก็ไม่ได้ถือว่าสูงนัก เพราะคิดคำนวนตามอัตราแรงงานขั้นต่ำ ส่วนใหญ่นายจ้างทั่วไปจะเลือกที่จ่ายเงิน มากกว่าจะลงแรงที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน ทั้งตามมาตรา 33 และ 35

ทั้งนี้ท่าน ธนิช นุ่มน้อย ก็เห็นว่า มาตรา 35 เป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะว่าการจ้างงานตามมาตรา 33 ในขณะยังเป็นทางที่ตีบตันอยู่ เนื่องจาก ความพร้อมในการทำงานของคนพิการก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีมากนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลา มาตรา 35 เปิดทางเลือกที่กว้างขวางขึ้น เพราะสถานประกอบการไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างคนพิการโดยตรง แต่อาจจะใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเปิดทางให้คนพิการมีงานทำได้ ดังนี้ (1) จ้างงานคนพิการในลักษณะ Outsource ซึ่งทำให้คนพิการไม่ต้องเดินทางมาทำงานที่สถานประกอบการ (2) จัดซื้อสินค้าหรือบริการ ที่ผลิตโดยคนพิการหรือองค์กรเพื่อคนพิการ (3) เปิดพื้นที่หรือโอกาสในการให้คนพิการหรือองค์เพื่อคนพิการ ได้ทำธุรกิจร่วมกัน เช่นการเปิดพื้นที่ให้คนพิการมาค้าขายภายในพื้นที่ของสถานประกอบการ (4) พัฒนาหรือฝึกอบรมเพื่อเสริมศักยภาพของคนพิการให้สามารถทำอาชีพได้เยี่ยงคนปกติ และ (5) พัฒนาสนับสนุนหรือลงทุนในกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ

และสุดท้ายองค์กรน้องใหม่ที่ได้ตั้งเป้าในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างจริงจัง คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า มศว. ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทาง มศว. โดยทาง นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว. ได้ตั้งปณิธานให้ มศว. เปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคมอย่างแท้จริง โดยการดำเนินกลยุทธสนับสนุนทั้งทางการดำเนินงานและทางวิชาการ เพื่อให้เกิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ขึ้นในสังคมไทยให้ได้

ในส่วนของการแถลงความร่วมมือ ทาง มศว. ได้เริ่มต้น โดยการกำหนดนโยบายที่จะสนับสนุน มาตรา 33 โดยในปีหน้าได้ตั้งเป้าให้การรับบุคคลากรของมหาวิทยาลัย สามารถรับคนพิการได้ครบตามสัดส่วนหรือมากกว่าที่ระบุไว้ เพื่อให้ มศว. ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างแท้จริง เนื่องจาก มศว. เป็นส่วนราชการ ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถรับคนพิการได้ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ ก็ไม่มีบทลงโทษแต่ประการใด ดังนั้นการกำหนดนโยบายเช่นนี้ จึงเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการรับใช้สังคมด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้ระเบียบกฎเกณฑ์มาบังคับ

ในทางวิชาการ มศว. ได้ริเริ่มที่จะจัดทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยเฉพาะ และได้รับการสนับสนุนจากทาง พก. โดยในงานวันแถลงข่าวนี้ ได้จัดให้มีการนำเสนองานวิจัยเพื่อการวิพากษ์จากผู้ทรงคุณวฺุฒิ ในหัวข้อเรื่อง "รูปแบบการพัฒนากิจการเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คนพิการ" ซึ่งนับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทย ที่กล่าวถึงกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยในรูปแบบของกรณีศึกษา โดยการคัดเลือกกรณีศึกษาของกิจการเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งในอาชีพให้กับคนพิการ และมีการดำเนินงานโดยมีผลสำเร็จที่เห็นได้ชัด ทั้งนี้จากกรณีศึกษาผู้วิจัยจะสำรวจและวิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการเพื่อสังคมนั้นๆ สร้างให้เกิดความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของคนพิการได้จริง

กรณีศึกษาที่เลือกขึ้นมาในงานวิจัยชิ้นนี้มี 3 ตัวอย่างคือ
  1. กลุ่มเกษตกรคนพิการผู้เลี้ยงแพะตำบลพังราด จังหวัดระยอง 
  2. ศูนย์นวัตกรรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดนนทบุรี
  3. บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด จังหวัดกรุงเทพมหานคร
จากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายสูง เพื่อให้แสดงถึงแนวทางที่หลากหลายในการสนับสนุนการมีอาชีพของคนพิการอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จากกรณีศึกษาเพียง 3 ตัวอย่าง ยังไม่สามารถที่จะแสดงถึงวิธีการทั้งหมดได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและทรัพยากร อย่างไรก็ดี ทาง มศว. หวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นตัวแบบแรกเริ่มที่กระตุ้นให้เกิดงานวิจัยในลักษณะเดียวกันขึ้นมา

จากก้าวเล็กๆ นี้ เป็นการจุดประกายให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยของไทยมีศักยภาพ และความสามารถที่จะลงไปคลุกกับปัญหาจริงในสังคมได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ทางท่านอธิการบดีของ มศว. ได้ให้ความเห็นไว้ว่า นโยบายของ มศว. ต้องการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคมอย่างแท้จริง โดยการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและผลิตบุคคลากร เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานของกิจการเพื่อสังคม หรือองค์กรอื่นใดที่ร่วมสนับสนุนแนวทางของการพัฒนาทางสังคม-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม ที่ควบคู่กันไป และมุ่งเน้นที่จะจับประเด็นสำคัญทางสังคม (Social Causes) เช่น ประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ/หรือ ประเด็นสำคัญอื่นใด ที่จะนำพาให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง และสงบสุขร่มเย็นได้

สุดท้ายในโต๊ะแถลงข่าว ทางกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวในฐานะผู้ประสานงานสำคัญ ที่ทำให้เกิดการแถลงข่าวครั้งนี้ โดยความสำคัญของงานนี้เป็นการสร้างให้เกิดพันธมิตรเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม (Social Impact Matching) ซึ่งเป็นการดำเนินงานพื้นฐานที่ทางกิจการเพื่อสังคม ไนส์คอร์ปอเรชั้น ได้ให้ความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ

ทั้งนี้ทางผู้ก่อตั้งและทางไนส์คอร์ป ได้เข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทย อย่างจริงจังมาประมาณ 6 ปีที่แล้วมา จึงนับได้ว่าเป็นบริษัทเอกชนที่มองเห็นถึงภาพรวมในการดำเนินงานด้านพัฒนาคุณภาพคนพิการอย่างแท้จริง และได้จัดให้เกิดเวทีพันธมิตรในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาคคนพิการ-ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน-สถาบันการศึกษา ให้มีการสร้างพันธมิตรเพื่อร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ต่างมีทรัพยากรที่ได้ลงทุนลงแรง ไปในการช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฟื้นฟู สภาพความเป็นอยู่ของคนพิการ ไม่มากก็น้อย นับเป็นตัวเงินก็อาจจะได้ถึงหลายหมื่นล้านต่อปี อย่างไรก็ดีทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ มักจะมุ่งเน้นไปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะสั้น หรือ ถ้าไม่เป็นการสร้างสรรค์ ก็จะมุ่งเน้นในการ ประชาสัมพันธ์-สร้างภาพ เป็นส่วนใหญ่ และเป็นสภาพการณ์ที่ดำเนินมาแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน โดยมีคนพิการที่สร้างพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง เป็นจำนวนที่น้อย และส่วนใหญ่เกิดจากตัวของพวกเขาเองทั้งนั้น โดยโครงการช่วยเหลือต่างๆ ไม่สามารถที่จะไปสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ได้

วิสัยทัศน์ของคนพิการในประเทศไทย ที่เรียกว่า สังคมอยู่เย็นเป็นสุข (Inclusive Society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ไร้ข้อกีดกันระหว่างคนพิการและคนปกติ และมีเงื่อนไขหลักอยู่ที่เจตคติ กล่าวคือ ความคิดเห็นของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนปกติ มักจะมองว่า คนพิการไม่สามารถอยู่ได้โดยปกติสุขในสังคม จะต้องรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เวทนานิยม กล่าวคือ "ฉันช่วยคนพิการเพราะสงสาร เพราะการช่วยคนพิการทำให้ฉันเห็นว่าฉันมีความเหนือกว่าอยู่เสมอ" ซึ่งเป็น มิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง

 ไนส์คอร์ป จึงเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นในการสร้างความตระหนัก ให้องค์กรและสังคมได้ทำงานร่วมกัน ในการที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญทางสังคม (Social Causes) อย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย นับเป็นตัวอย่างที่สำคัญของปัญหาสำคัญในสังคมที่เห็นได้ชัด ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีสังคมแบบพุทธด้วยกัน จะเห็นได้ว่าระดับการพัฒนาจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ทั้งนี้เมื่อขยายไปถึงอาเชี่ยน ซึ่งจะมีการควบรวมเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันในปี พ.ศ. 2558 จะเห็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในเชิงวัฒนธรรม ที่ 10 ประเทศในอาเชี่ยนมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือจากความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทางประชาคมอาเชี่ยนได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาทางสังคมไว้เป็นหนึ่งในสามแนวทางหลักของ ASEAN Blueprint

ภายใต้แนวทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม มีโครงการสำคัญอยู่มากมาย โครงการหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คือโครงการ ASEAN Network of Expert on Entrepreneurship ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือกลุ่มคนพิการแล้วยังขยายรวมไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอื่นๆ อีกด้วย เช่น กลุ่มคนชรา กลุ่มเด็กที่ไร้การศึกษา ฯลฯ

ความหมายของเครือข่ายอาเชี่ยน ที่เรียกว่า Network of Expert on Entrepreneurship นี้ หมายถึงเครือข่ายของผู้ชำนาญการด้านผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ที่สามารถแบ่งปัน ประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ให้กับผู้ด้อยโอกาสได้รู้จักใช้ความเป็นผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง เช่น เปิดกิจการอาชีพเล็กๆ แต่พอตัว หรือ การรวมกลุ่มเพื่อประกอบกิจการชุมชนเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชน หรือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีความเข้มแข็งเพื่อประกอบอาชีพหรือการงานในตลาดแรงงานตามปกติ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราสามารถเรียกรวมกันได้ว่าเป็น Inclusive Entrepreneurship

ผู้ชำนาญการในที่นี้จะทำหน้าที่เป็น Coach หรือ Mentor เพื่อกระตุ้นและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งรวมถึงคนพิการด้วย และเนื่องจากโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ ASEAN Blueprint จึงต้องมีการนำเสนอผ่านทางคณะกรรมการของอาเชี่ยน (SOMSWD - Senior Officer Meeting on Social Welfare and Development) ซึ่งทาง ไนส์คอร์ป ได้รับเกียรติร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ประสานงานในโครงการนี้

ดังนั้นเหตุการณ์แถลงข่าวเล็กๆ ภายใต้รั้ว มศว. นั้น สามารถที่จะเชื่่อมโยงไปสู่ ASEAN ได้อย่างไม่ขัดเขิน ประเทศไทยได้ถูกกำหนดให้เป็นหัวหน้าโครงการ ASEAN Network of Expert on Entrepreneurship ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำของ 10 ประเทศในอาเชี่ยนในการจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าว จึงต้องมีการสนับสนุนทางวิชาการที่สำคัญ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะผู้นำ

จะเห็นได้ว่าจากเหตุการณ์เล็กๆ ในบ่ายวันอังคาร ภายใต้รั้วของสถาบันศึกษา มีความโยงใยต่างๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง และอาจจะทำให้ชีวิตของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่จะต้องเกษียรในเดือนนี้ มีความหมายที่ลุ่มลึกมากไปกว่าการทำการงานตามปกติ ทั้งนี้ งานกับสังคม สามารถเป็นเรื่องที่ทำควบคู่กันไปได้ ตามคำกล่าวที่สำคัญอันหนึ่งว่า "ไม่มีธุรกิจใดที่จะประสบความสำเร็จได้ ภายใต้สังคมที่ล้มเหลว"

บันทึกโดย
CChaiyoot

No comments:

Post a Comment